หน้า 1 จากทั้งหมด 1
23 ตุลาคม "วันปิยมหาราช"
โพสต์แล้ว: 22 ต.ค. 2021 20:09
โดย admin
ตำนานพระบรมรูปทรงม้า 1
โพสต์แล้ว: 23 ต.ค. 2021 09:18
โดย admin
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ****
**** ของสมเด็จพระปิยมหาราช ***
* จุดเริ่มต้นอนุสาวรีย์แห่งเกียรติยศ*
* เกิดขึ้นเมื่อจะสร้างพระราชวังใหม่ *
( ตอน 1 )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
18 ตุลาคม 2564
สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงมีพระราชปฏิพัทธ์ ในงานประติมากรรมแบบยุโรป อันเป็นคตินิยมที่ทรงได้รับการสั่งสมมาจากพระบรมราชนก ( รัชกาลที่ 4 ) ในฐานะเครื่องมือสร้างชาติไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
โดยระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440 ก็ทรงโปรดให้จิตรกร และประติมากรชาวอิตาเลี่ยน วาดภาพ และแกะสลักรูปปั้นเสมือนจริงของพระองค์ ตามแบบคตินิยมของกษัตริย์ยุโรปบ้างแล้ว
แต่การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดใหญ่ ยังไม่เกิดขึ้นในทันทีจนกระทั่งเสด็จกลับ
เพราะเป้าหมายในการเสด็จ เมื่อพ.ศ. 2440 นั้นยังเน้นไปด้วยเรื่องการเมืองมากกว่าอย่างอื่น เรื่องของการสร้างอนุสาวรีย์จึงต้องเก็บไว้ก่อน
จวบจนอีกสองปีต่อมา ภายหลังความตึงเครียดด้านการเมืองคลี่คลายลงแล้ว คือในปีพ.ศ. 2442 ก็ทรงมีพระราชดำริให้สร้างหมู่พระที่นั่งแห่งใหม่แยกตัวออกมา จากพระบรมมหาราชวังเดิม
เพราะก่อนหน้า พ.ศ. 2442 นั้นชาวราชสำนัก ประกอบด้วยเจ้านายและข้าราชบริพาร อาศัยรวมกันอยู่ภายในเขตพระบรมมหาราชวัง เหมือนครอบครัวขนาดใหญ่ นับได้หลายร้อยคน
วังหลวงมีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้คนเข้ามาอาศัย เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความคับแคบ แออัดยัดเยียด และไม่ถูกสุขอนามัย ทำให้ผู้อาศัยเกิดความเจ็บไข้ขึ้นเสมอๆ
ในหลวงรัชกาลที่ 5 เองบางคราวก็ทรงพระประชวรบ่อยๆ และไม่ทรงสุขสบาย ภายในวังหลวงที่แออัด
หมอฝรั่งผู้ถวายรักษาพยาบาลอยู่จึงกราบบังคมทูลแนะนำ ให้เสด็จไปหาที่สร้างวังใหม่อีกสักแห่งหนึ่ง ที่ชานพระนคร
ในที่มีอากาศปลอดโปร่งแจ่มใสไม่คับแคบจอแจเหมือนในวังหลวง ด้วยเหตุนี้ จึงทรงใช้เงินส่วนของพระคลังข้างที่ จัดซื้อที่ดินริมคลองสามเสนเข้ามาจนถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม
เพื่อดำเนินการ ก่อสร้างพระราชวังแห่งใหม่ขึ้นเรียกว่า “ วังสวนดุสิต “
( ต่อตอน 2 วังใหม่สไตล์แบบยุโรป )
( ภาพ และข้อมูลจากหนังสือเรื่อง พระที่นั่งวิมานเมฆ )
ตำนานพระบรมรูปทรงม้า 2
โพสต์แล้ว: 23 ต.ค. 2021 09:20
โดย admin
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ****
**** ของสมเด็จพระปิยมหาราช ***
* เกิดขึ้นเมื่อจะสร้างพระราชวังใหม่ *
* ตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียน *
( ตอน 2 )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
19 ตุลาคม 2564
เมื่อโครงการสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เรียกว่า “ วังสวนดุสิต “ เกิดขึ้นแล้ว หมู่พระที่นั่งต่างๆ ก็ถูกสร้างขึ้นทันที ตั้งแต่พ.ศ. 2442 ประกอบด้วยพระตำหนักที่ประทับ ท้องพระโรงว่าราชการ และที่พำนักของพระบรมวงศานุวงศ์
พระที่นั่งอันโดดเด่น และมีชื่อเสียงที่สุด ในพระราชวังสวนดุสิต ตามลำดับก่อนหลังที่สร้างขึ้น ได้แก่ :- พระที่นั่งวิมานเมฆ, พระที่นั่งอภิเษกดุสิต, พระที่นั่งอัมพรสถาน, และพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
เบื้องหน้าหมู่พระที่นั่งทั้งหมด ก็คือพระที่นั่งองค์ใหญ่ ที่ลานหน้าประตูทางเข้าวังสวนดุสิต ได้ชื่อว่า “ พระที่นั่งอนันตสมาคม “
เป็นตึกขนาดใหญ่ สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองคาเรร่า ในประเทศอิตาลี สร้างตามศิลปะแบบ “ อิตาเลียนเรเนซ้องส์ “ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้นทั่วทวีปยุโรป
เมื่อโครงการสร้างวังสวนดุสิตดำเนินไปนั้น ความคิดเรื่องสร้าง “ ซุ้มประตู “ ทางเข้าพระราชวังแห่งใหม่ ก็ถูกกำหนดขึ้นตามมาติดๆ
ที่ซุ้มประตูทางเข้าวังนี้เอง จะเกิดอุบัติการณ์ใหม่ ของการสร้าง “ ซุ้มประตู “ แบบยุโรปโดยเฉพาะ ที่นิยมสร้างอนุสาวรีย์ของของพระเจ้าแผ่นดินอันภูมิฐาน ติดตั้งไว้ด้วย
ในทวีปยุโรปช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ได้เกิดประเพณีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าแผ่นดินทรงม้า เป็นกระแสไปทั่วยุโรป จากกระแสการรวมชาติให้เป็นปึกแผ่นในประเทศอิตาลี เป็นปฐม ตามด้วยการรวมชาติในเยอรมนี
แต่ความคิดเรื่องสร้าง “ พระบรมรูปทรงม้า “ องค์แรกในประเทศสยามกลับเกิดขึ้นจากผู้สันทัดกรณีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเสนาบดีคู่พระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 เอง
เขาผู้นั้นเป็นใคร ? ติดตามได้ในตอนที่ 3 ครับ
( ข้อมูลจากหนังสือ พระที่นั่งอนันตสมาคม )
ตำนานพระบรมรูปทรงม้า 3
โพสต์แล้ว: 23 ต.ค. 2021 09:22
โดย admin
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ***
*** ของสมเด็จพระปิยมหาราช ***
* ต้นเหตุอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติ*
* ใครคือต้นคิดสร้างพระบรมรูป ? *
( ตอน 3 )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
20 ตุลาคม 2564
ตามประวัติบันทึกไว้ว่า แม้นว่าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะทรงมีพระราชปฏิพัทธ์ ในศิลปะวัตถุแบบยุโรปอย่างไรก็ตาม
แต่ก็มิได้ทรงฟุ่มเฟือย กับการแสวงหาของสวยงาม มาประดับบารมีโดยมิได้พิจารณาไตร่ตรอง ถึงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมในสิ่งของต่างๆเลย
เรื่องของ “ พระบรมรูปทรงม้า “ ที่จะเป็นสัญลักษณ์ประดับพระเกียรติยศและ อนุสาวรีย์ประจำรัชกาล ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยไม่เคยทราบ !
ทรงอธิบายถึงต้นเหตุ ให้เจ้าพระยายมราช ( เสนาบดีกรมโยธาคนที่ 2 ) รู้ว่า......
15 เมษายน ร.ศ.126
ถึง พระยาสุขุม
“ หนังสือฉบับนี้ มีความมุ่งหมายที่จะอธิบายโทรเลขนั้นให้แจ่มแจ้งคือพระยาสุขุมจะนึกได้ว่า มีความคิดอย่างหนึ่งซึ่งค้างอยู่ช้านานว่าจะเอาเงินที่ข้าราชการเรี่ยไร ในการทำบุญแซยิดอายุครบ 50 ปี อันมีเหลืออยู่นั้น
ไปเป็นค่าใช้จ่าย ก่อสร้างทำซุ้มประตูที่ถนนเบญจมาศ ต่อกับถนนราชดำเนินนอก เพื่อจะให้เป็นซุ้มประตูสำหรับวังสวนดุสิต ความคิดอันนี้ได้คิดเมื่อครั้งพระยาสุริยา เป็นเสนาบดี
มีหน้าที่ 3 คนร่วมกันคือ พระยาสุริยา, กรมหลวงนริศ, และ กรมดำรงจนถึงได้วาดตัวอย่างขึ้นดูบ้างแล้ว แต่ก็ติดค้างอยู่ตามเคย
มาภายหลัง พระยาสุริยา เห็นว่าน่าจะหล่อ “ พระบรมรูปขี่ม้า “ ตั้งบนหลังซุ้มนั้น แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำรูป ก็ระงับมาอีก “
( ลงพระนาม )
สยามินทร์
“ พระยาสุริยา “ ผู้นี้มีชื่อเต็มว่าพระยาสุริยานุวัตร ( เกิด บุนนาค ) ท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตสยามประจำทวีปยุโรป ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกรมโยธา ( คนที่ 1 ) มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง และการคมนาคมภายในประเทศทุกอย่าง ในสมัยนั้น
พระยาสุริยา เป็นผู้รอบรู้ความเป็นไปในเรื่องต่างๆของยุโรป และเป็นผู้หนึ่งที่ออกแบบสร้าง “ วังสวนดุสิต “ ให้พระเจ้าอยู่หัว
ท่านเป็นผู้ใกล้ชิดทึ่รู้พระทัยในหลวง และเป็นต้นคิดให้สร้างพระบรมรูปทรงม้า ตามแบบกษัตริย์ในยุโรป เพื่อประดับพระเกียรติยศ ณ พระราชวังแห่งใหม่
พระบรมรูปทรงม้าสร้างโดยใคร ? สร้างที่ไหน ? อ่านต่อตอน 4 ครับ
ข้อมูลจาก : หนังสือประวัติเจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม )
ตำนานพระบรมรูปทรงม้า 4
โพสต์แล้ว: 23 ต.ค. 2021 09:23
โดย admin
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ****
*** เบิกตัวราชทูตไทยกรุงปารีส ***
***** ให้สืบหาโรงหล่อรูปปั้น *****
** ได้ที่โรงหล่อ Susse Fondeur **
( ตอน 4 )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
21 ตุลาคม 2564
ภายหลังจากที่พระยาสุริยานุวัตร ( เกิด บุนนาค ) ได้ทูลแนะนำให้สร้างพระบรมรูปทรงม้า เพื่อตกแต่งไว้ด้านหน้าพระราชวังแห่งใหม่ ณ ซุ้มประตูทางเข้า “ วังสวนดุสิต “ แล้ว
โครงการนี้ ก็ถูกกำหนดขึ้นทันที ให้เร่งทำให้เสร็จทันงาน “ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก “ ในพ.ศ. 2451
อันเป็นปีที่สมเด็จพระปิยมหาราชจะทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 40 ปี บริบูรณ์ และจะมีงานเฉลิมฉลองสมโภชใหญ่ขึ้นที่พระนคร
พระองค์เจ้า จรูญศักดิ์ กฤษดากรอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ในสมัยนั้น ได้รับมอบหมายให้สืบหาโรงหล่อพระบรมรูป ที่มีชื่อเสียงของยุโรปจะเป็นที่อิตาลี หรือที่ใดก็ตาม ที่สามารถสร้างรูปปั้นให้เสร็จทันงานนั้น
เหตุการณ์นี้ ประจวบกับในเวลานั้น รัชกาลที่ 5 กำลังเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 อยู่พอดี
ด้วยเป็นกฎของทางโรงหล่อว่า ผู้จ้างวาน คือสมเด็จพระปิยมหาราช จะต้องเสด็จไปประทับเป็นแบบ ให้นายช่างปั้นรูปเสมือนคนจริงๆ ตามตรรกะรูปปั้นเสมือนจริง หรือ “ สัจนิยมราชา “
ต่อมาท่านราชทูต ก็พบว่าโรงหล่อของพี่น้องตระกูลซูส ชื่อ Susse Freres Fondeur ณ กรุงปารีส สามารถทำให้เสร็จได้ ทันงานฉลองรัชมังคลาภิเษก ในสนนราคาที่เหมาะเจาะลงตัว
โครงการตามพระราชดำริ จึงเกิดขึ้นทันที ที่โรงหล่อรูปปั้นกรุงปารีส
ตำนานพระบรมรูปทรงม้า 5
โพสต์แล้ว: 23 ต.ค. 2021 09:24
โดย admin
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ****
ใครคือช่างปั้นเบื้องหลังการสร้าง ?
**** ข้อมูลทรงคุณค่าที่สาปสูญ ***
** รักเมืองไทยต้องรู้จริงเมืองไทย**
( ตอน 5 )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
22 ตุลาคม 2564
โดยทางโบราณคดีแล้ว พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 มีเรื่องราวล้ำลึกกว่าที่คนทั่วไปคิด
จากเอกสารที่ทางโรงหล่อ Susse Fondeur อนุรักษ์เก็บไว้ทำให้ทราบว่า
โรงหล่อแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ และมีชื่อเสียงที่สุดของปารีส ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ( ตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทย ) มีผลงานสร้างรูปปั้นอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ หลายพระองค์ของทวีปยุโรป มิใช่แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสเท่านั้น
ทางโรงงานได้วางตัวนายช่างใหญ่ระดับบรมครู 2 คนให้สร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิยมหาราช
รัชกาลที่ 5 ทรงมีลายพระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยายมราชสอบถามและแจ้งข่าวความคืบหน้า การจัดสร้างพระบรมรูป เพื่อประสานกับนายตามาโย่ สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนทางกรุงเทพ ความว่า......
6 ธันวาคม รศ.126
ถึง พระยาสุขุม
การที่ว่าเช่นนี้ เพราะเหตุที่ผู้ทำนั้นมีช่างปั้นรูปคนนายหนึ่ง และช่างปั้นรูปม้าอีกนายหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วถึงจะถึงช่างหล่อ ยังไม่คิดไปถึงฐาน ซึ่งเป็นงานของช่างก่อ ช่างศิลาเลย
แต่ข้างฝ่ายเราออกจะไม่ใคร่เป็นเกี่ยงให้เขาคิดหมายใจว่าเขาจะทำเป็น Statue แล้วเสร็จมาเหมือนตุ๊กตาทองแดงที่ซื้อหากันตัวหนึ่ง แต่ที่จริงการมันต่างกันหมด
ถ้าจะให้เขากะมาให้เสร็จ จะบอกไปถึงจรูญให้หาช่างแกะ เมื่อแกะส่วนตัวและฐานได้กันแล้ว ให้จ้างเขาทำศิลาเสียให้เสร็จ จะใช้ช่าง 3-4 คน อย่างไรก็ตาม สุดแต่ให้เขามอบหมายกันมาคุมให้สำเร็จ
เดี๋ยวนี้ขัดข้องข้อเดียว ที่เรื่อง “ ซุ้ม” ถ้าหากว่าเขากะมาส่วนสูง ซุ้มของเราต่ำไปจะเป็นความลำบาก แก้ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องซุ้ม
จรูญก็เร่งจี๋นักขอให้ตอบโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะตอบได้ เพราะฉะนั้นขอให้คิดอ่านปรึกษากับ มิสเตอร์ตามมาโย่เอาความตกลงให้ได้โดยเร็วที่สุด จะได้โทรเลขตอบทางปารีส ที่เขาถามแล้วจึงจะเขียนหนังสือต่อไป
( ลงพระนาม )
สยามินทร์
เมื่อการก่อสร้างพระบรมรูป เป็นรูปธรรมขึ้น และกระแสข่าวความคืบหน้ารายงานเข้ามาเป็นระยะ คณะกรรมการจัดงาน พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก จึงปรึกษากันอย่างเร่งด่วน
และได้ตกลงกัน ที่จะทูลขอพระบรมราชานุญาตเรี่ยไรเงิน ต่อสาธารณะชนในเมืองไทย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปในวงกว้าง เงินบริจาคก็เพิ่มขึ้นมาอีกมากจากขั้นต้นคำนวณอยู่ที่ 200,000 บาทแต่สามารถรวบรวมได้ถึง 1,200,000 บาท
คณะกรรมการจึงมีมติ ให้ถวายเงินทั้งหมด และทูลขอพระบรมราชวินิจฉัย พระราชทานพระบรมรูปทรงม้านี้ให้เป็นสัญลักษณ์ในงาน “ รัชมังคลาภิเษก “ ซึ่งจะมีขึ้นในเวลาที่พระบรมรูปสร้างเสร็จพอดี
สมเด็จพระปิยมหาราช ก็โปรดให้เป็นไปตามที่ขอทุกประการ
ข้อมูลจาก หนังสืองานศพเจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม )
ตำนานพระบรมรูปทรงม้า 6
โพสต์แล้ว: 23 ต.ค. 2021 09:25
โดย admin
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ****
* ใครตั้งพระนาม “ปิยมหาราช” ?? *
** รัชกาลที่ 5 ทรงทราบพระนามนี้ **
** เมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่หรือไม่ ?? *
( ตอน 6 / จบ )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
23 ตุลาคม 2564
คำถามที่อยู่ในใจคนไทยตลอดมาก็คือคำว่า “ ปิยมหาราช “ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเคยได้ยินหรือไม่ ?
คำตอบก็คือ ทรงทราบและทรงตระหนักถึง พระราชสมัญญานามใหม่นี้ ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ใน พ.ศ. 2451 ( สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2453)
“ ปิยมหาราช “ ซึ่งมีความหมายว่า : มหาราชาผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย เป็นพระนามใหม่ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งขึ้นถวายเป็นพระราชสมัญญา ในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภช ฉลองการครองสิริราชสมบัติ ครบ 40 ปี
คำนี้ เขียนจารึกไว้บนแผ่นป้ายคำจารึกติดตรึงอยู่ ที่ด้านหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จฯ มาทรงเปิดอนุสาวรีย์นั้น ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนร.ศ.127 ( ดูภาพด้านล่าง )
โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้ทรงอ่าน “ คำถวาย “ พระบรมรูปทรงม้า ในวันนั้นความว่า.....
“ หวังให้เป็น อนุสาวรีย์แห่งความจงรักภักดี ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันมีอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปรากฏอยู่ชั่วกัลปาวสาน “
( ข้อมูลจาก หนังสือจดหมายเหตุ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร.ศ.127 )