โพสต์
โดย admin »
**** ตำนานพระบรมรูปทรงม้า ****
ใครคือช่างปั้นเบื้องหลังการสร้าง ?
**** ข้อมูลทรงคุณค่าที่สาปสูญ ***
** รักเมืองไทยต้องรู้จริงเมืองไทย**
( ตอน 5 )
โดย ไกรฤกษ์ นานา
นักสืบประวัติศาสตร์
22 ตุลาคม 2564
โดยทางโบราณคดีแล้ว พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 มีเรื่องราวล้ำลึกกว่าที่คนทั่วไปคิด
จากเอกสารที่ทางโรงหล่อ Susse Fondeur อนุรักษ์เก็บไว้ทำให้ทราบว่า
โรงหล่อแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ และมีชื่อเสียงที่สุดของปารีส ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ( ตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทย ) มีผลงานสร้างรูปปั้นอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ หลายพระองค์ของทวีปยุโรป มิใช่แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสเท่านั้น
ทางโรงงานได้วางตัวนายช่างใหญ่ระดับบรมครู 2 คนให้สร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิยมหาราช
รัชกาลที่ 5 ทรงมีลายพระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยายมราชสอบถามและแจ้งข่าวความคืบหน้า การจัดสร้างพระบรมรูป เพื่อประสานกับนายตามาโย่ สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนทางกรุงเทพ ความว่า......
6 ธันวาคม รศ.126
ถึง พระยาสุขุม
การที่ว่าเช่นนี้ เพราะเหตุที่ผู้ทำนั้นมีช่างปั้นรูปคนนายหนึ่ง และช่างปั้นรูปม้าอีกนายหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วถึงจะถึงช่างหล่อ ยังไม่คิดไปถึงฐาน ซึ่งเป็นงานของช่างก่อ ช่างศิลาเลย
แต่ข้างฝ่ายเราออกจะไม่ใคร่เป็นเกี่ยงให้เขาคิดหมายใจว่าเขาจะทำเป็น Statue แล้วเสร็จมาเหมือนตุ๊กตาทองแดงที่ซื้อหากันตัวหนึ่ง แต่ที่จริงการมันต่างกันหมด
ถ้าจะให้เขากะมาให้เสร็จ จะบอกไปถึงจรูญให้หาช่างแกะ เมื่อแกะส่วนตัวและฐานได้กันแล้ว ให้จ้างเขาทำศิลาเสียให้เสร็จ จะใช้ช่าง 3-4 คน อย่างไรก็ตาม สุดแต่ให้เขามอบหมายกันมาคุมให้สำเร็จ
เดี๋ยวนี้ขัดข้องข้อเดียว ที่เรื่อง “ ซุ้ม” ถ้าหากว่าเขากะมาส่วนสูง ซุ้มของเราต่ำไปจะเป็นความลำบาก แก้ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องซุ้ม
จรูญก็เร่งจี๋นักขอให้ตอบโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะตอบได้ เพราะฉะนั้นขอให้คิดอ่านปรึกษากับ มิสเตอร์ตามมาโย่เอาความตกลงให้ได้โดยเร็วที่สุด จะได้โทรเลขตอบทางปารีส ที่เขาถามแล้วจึงจะเขียนหนังสือต่อไป
( ลงพระนาม )
สยามินทร์
เมื่อการก่อสร้างพระบรมรูป เป็นรูปธรรมขึ้น และกระแสข่าวความคืบหน้ารายงานเข้ามาเป็นระยะ คณะกรรมการจัดงาน พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก จึงปรึกษากันอย่างเร่งด่วน
และได้ตกลงกัน ที่จะทูลขอพระบรมราชานุญาตเรี่ยไรเงิน ต่อสาธารณะชนในเมืองไทย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปในวงกว้าง เงินบริจาคก็เพิ่มขึ้นมาอีกมากจากขั้นต้นคำนวณอยู่ที่ 200,000 บาทแต่สามารถรวบรวมได้ถึง 1,200,000 บาท
คณะกรรมการจึงมีมติ ให้ถวายเงินทั้งหมด และทูลขอพระบรมราชวินิจฉัย พระราชทานพระบรมรูปทรงม้านี้ให้เป็นสัญลักษณ์ในงาน “ รัชมังคลาภิเษก “ ซึ่งจะมีขึ้นในเวลาที่พระบรมรูปสร้างเสร็จพอดี
สมเด็จพระปิยมหาราช ก็โปรดให้เป็นไปตามที่ขอทุกประการ
ข้อมูลจาก หนังสืองานศพเจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม )