บทวิเคราะห์สังคมการเมืองและเศรษฐกิจ

ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
KITTPONG
โพสต์: 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ม.ค. 2014 05:01

บทวิเคราะห์สังคมการเมืองและเศรษฐกิจ

โพสต์ โดย KITTPONG »

บทบาท'ทหาร'กับสถานการณ์การเมืองร้อน!
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

บทบาท"ทหาร"ในสถานการณ์ร้อน ประเมิน "3 ตัวชี้วัด" กำหนดท่าที จังหวะก้าวย่างของกองทัพที่ต้องระมัดระวัง สุ่มเสี่ยงเข้าไปอยู่วังวนความขัดแย้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่เริ่มมีวิกฤติการเมืองรอบนี้เป็นต้นมา นับง่ายๆ คือตั้งแต่ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับสุดซอยวันแรกที่ข้างสถานีรถไฟสามเสนจนถึงวันนี้ บทบาทของกองทัพค่อนข้างดี และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ตลอด 2 เดือนเศษที่ผ่านมา กองทัพแสดงจุดยืนชัดเจนไม่เลือกข้าง และไม่เล่นบทยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป ส่วนบท "คนกลาง" แม้จะไม่สำเร็จนัก แต่ก็พออธิบายได้ว่าทำในฐานะ "ผู้อำนวยความสะดวก" ให้แกนนำคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายได้พบปะกัน ซึ่งแม้หลายคนจะวิจารณ์ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าดีกว่าให้ทหารออกมารัฐประหารแน่นอน

ที่ผ่านมาเหล่าทัพมี "คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์" คอยวางบทบาทและกำหนดทิศทาง รวมทั้งจังหวะก้าวของกองทัพอยู่เหมือนกัน...

ข้อมูลที่เก็บตกมาจากคณะทำงานเหล่านี้ ประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้าใน 2 ประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ

1.จะประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" หรือไม่ ประเด็นนี้แม้จะเป็นอำนาจของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารโดยตรง แต่การจะประกาศก็ต้องหารือกับหน่วยปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะกองทัพที่มีกำลังพลและยุทโธปกรณ์พร้อมปฏิบัติการ

สถานการณ์ที่ผ่านมา คือ รัฐบาลพยายามประสานขอให้กองทัพสนับสนุนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการประชุมลับร่วมกันหลายครั้ง โดยเฉพาะที่กองทัพไทย แต่ฝ่ายกองทัพยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็น ประกอบกับหากจะใช้กำลังทหาร แต่ให้มีเพียง "โล่" กับ "กระบอง" ย่อมไม่มีผลแตกต่างกันกับการไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันทหารก็ส่งกำลังสนับสนุนการปฏิบัติของตำรวจอยู่แล้ว ภายใต้การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" โดยอัตรากำลังที่กองทัพสนับสนุนอยู่ที่ 20 กองร้อย ส่วนใหญ่เป็นกองร้อยรักษาความสงบ ขณะที่ตำรวจใช้กำลังหน้างานอยู่ที่ 20,000 นาย ไม่นับกำลังที่สับเปลี่ยนกันเข้ามา

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากจะได้อำนาจเพิ่มในการจำกัดสิทธิประชาชน ผู้ชุมนุม และสื่อที่สนับสนุนการชุมนุมแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหากไม่กระทำการเกินกว่าเหตุ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย แต่ปัญหาคือบทเรียนจากปี 53 ที่กองทัพยังตกเป็นจำเลยอยู่ จึงไม่มีหลักประกันหากต้องออกมารับผิดชอบกับสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงซ้ำรอยเดิมอีก

ว่ากันว่าถึงแม้ฝ่ายตำรวจจะอยากให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ต้องการให้ทหารเป็น "หน่วยนำ" ด้วย ประเด็นขัดแย้งเหล่านี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่หากประกาศไปก่อนแล้วปล่อยให้สถานการณ์ไหลไป ก็สุ่มเสี่ยงเจอ "เกียร์ว่าง" จากฝ่ายกองทัพเหมือนเมื่อครั้งที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เคยทำมาแล้วในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช

2.ท่าทีของกองทัพกับการชุมนุมใหญ่ 13 ม.ค.ของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กับสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้น

ประเด็นนี้มีการกำหนดตัวชี้วัด 3 ประการ ซึ่งจะส่งผลต่อท่าทีและบทบาทของกองทัพในระยะต่อไป กล่าวคือ

หนึ่ง มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เกี่ยวกับ 383 ส.ส.และ ส.ว.ที่ถูกร้องให้ถอดถอนจากตำแหน่ง กรณีร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่ง ป.ป.ช.นัดลงมติในวันที่ 7 ม.ค. (วันนี้) หาก ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแบบเหมารวมทั้งหมด โอกาสที่หมากการเมืองจะเดินไปสู่ "ตาอับ" ย่อมมีมาก และสุ่มเสี่ยงที่จะก่อความไม่พอใจให้กับมวลชนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจนบานปลายกลายเป็นความรุนแรง

สอง จำนวนมวลชนที่ไปร่วมชุมนุมชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. ในวันที่ 13 ม.ค. พร้อมประเมินสถานการณ์จากสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ว่าอารมณ์ของประชาชนเป็นอย่างไร

สาม เกาะติดการเคลื่อนไหวของ กปปส.ในวันที่ 13 ม.ค. ว่าจะมีมาตรการหรือการปฏิบัติที่เปิดทางไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ เช่น การจับตัวแกนนำรัฐบาล เป็นต้น

บทสรุปของคณะทำงานฯที่เห็นตรงกัน คือ ขณะนี้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต้องการใช้ทหาร และดึงทหารไปอยู่ข้างตนเอง โดยรัฐบาลก็ต้องการให้ทหารออกมาสลายการชุมนุม อาจผ่านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ก็ได้ แม้ว่าจะมีความกังวลไม่น้อยกว่าหากยื่นดาบให้ทหารไปแล้ว ดาบนั้นจะคืนสนองก็ได้

แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่รัฐบาลต้องการ คือ ให้กองทัพแสดงจุดยืนว่าอยู่เคียงข้างรัฐบาล เพื่อลดทอนความชอบธรรมของ กปปส.

ขณะที่ฝ่าย กปปส.นั้น ชัดเจนว่าต้องการให้ทหารแสดงบทบาทยึดอำนาจ หรือไม่ยอมรับอำนาจของฝ่ายรัฐบาลที่พวกตนมองว่าไม่มีความชอบธรรม

ฉะนั้นจังหวะก้าวต่อไปของกองทัพจึงต้องระมัดระวัง เพราะหากก้าวผิดนิดเดียว จะกลายเป็นเลือกข้าง และสุ่มเสี่ยงเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งได้โดยไม่รู้ตัว

ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งประเด็นที่เห็นพ้องกันในกองทัพ คือ จุดยืนของการไม่รัฐประหาร เพราะกองทัพไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ไม่ว่าสีไหน ประกอบกับการจัดกำลังแบบ "รบตามแบบ" มาใช้ควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในเมือง ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมี "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ฝึกอาวุธและพร้อมกระทำกับฝ่ายทหารในลักษณะ "สงครามกองโจรในเมือง"

ส่วนการนำกำลังทหารออกปฏิบัติการนั้น bottom line หรือ "บรรทัดสุดท้าย" อยู่ที่การรักษาสถานการณ์เมื่อเกิดการปะทะระหว่างประชาชนด้วยกัน หรือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยกับประชาชน แล้วเกิดความสูญเสียจำนวนมากเท่านั้น

โดยจะไม่มีการออกปฏิบัติการด้วยเหตุผลอื่น!
ตอบกลับโพส